‘โตขึ้นผมอยากโตไปเป็นเกมเมอร์ครับ’ หากเราลองพูดประโยคนี้ในตอนที่ยังเด็กๆ กับพ่อแม่ ก็คงจะโดนเขกหัวไปหนึ่งที พร้อมบอกให้เราไปตั้งใจเรียนหนังสือ เพราะ ‘อาชีพเกมเมอร์ หรือนักกีฬา E-sport’ ในมุมมองของคนรุ่นก่อน มักจะยึดโยงอยู่กับเด็กที่เล่นเกมทั้งวันจนไม่เอาการเอางาน
และแน่นอนว่า เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ธุรกิจเกมออนไลน์ได้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด พร้อมๆ กับอาชีพเกมเมอร์ที่เริ่มได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นจนสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงไปจนถึงหลักล้านเลยทีเดียว
E-sport แท้จริงแล้ว คือ อะไร?
E-sport คือ การรวมกันระหว่าง ‘การเล่นเกม’ และ ‘การแข่งขันกีฬา’ โดยที่ E-sport มีโครงสร้างเหมือนการจัดการแข่งขันกีฬาทั่วไป คือ มีโปรแกรมการแข่งขัน มีผู้เล่นสองฝั่งทำการแข่งขันกัน ต่างเพียงแค่กีฬาที่นำมาใช้ในการแข่งขัน คือ เกมออนไลน์ นั่นเอง และแม้ว่า จะมีเพียง1-2 % ในโลกเท่านั้น ที่จะก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพนักกีฬา E-sport แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เกมเมอร์ที่ไม่สามารถไปถึงจุดนั้นจะไม่มีอนาคตที่มั่นคง เพราะ ในวงการ E-sport เอง ก็ยังมีอาชีพอีกตั้งมากมาย ที่สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงเช่นกัน
ธุรกิจเกม และ E-Sport เรียนจบแล้วประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง?
- ผู้จัดการแข่งขัน
- ผู้จัดการทีม
- ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการเกม
- นักแคสติ้ง
- นักวางแผนเกม
- งานวางแผนธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเกม
- ผู้ผลิตผ่านสื่อดิจิทัล
- นักการตลาด
- นักวิชาการ
นักกีฬา E-sport มีรายได้จากช่องทางใดบ้าง?
1. เงินรางวัลจากการแข่งขัน
E-sport แต่ละโปรแกรมการแข่งขันจะมีเงินรางวัลให้กับผู้ชนะตามลำดับลดหลั่นกันไป โดยเงินรางวัลสูงสุดในโปรแกรมการแข่งขัน E-sport ของอเมริกานั้น มีมูลค่าสูงราวๆ 6.2 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การจะก้าวไปสู่จุดที่ได้รับการยอมรับในวงการได้นั้น เราจำเป็นจะต้องชนะอย่างน้อยสักโปรแกรมการแข่งขันระดับนานาชาติก่อน เพื่อจะได้รับเชิญเข้าร่วมการแข่งขันในโปรแกรมถัดไปได้ง่ายขึ้น
2. เงินเดือนทั่วไป
นักกีฬา E-sport มีรายได้ประจำเหมือนกับอาชีพอื่นเช่นกัน หากอยู่ภายใต้ต้นสังกัดที่ชัดเจน โดยจากการสำรวจของ Esportsearnings.com พบว่า ปัจจุบัน เกมเมอร์ระดับมืออาชีพมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 30,000 - 150,000 บาทต่อเดือน และสำหรับเกมเมอร์ตัวท็อปอาจแตะได้มากถึง 450,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว ซึ่งเงินจำนวนนี้ ยังไม่รวมเงินที่จะได้จากกิจกรรมอื่นๆ เช่น สปอนเซอร์ หรือเงินรางวัลเลยด้วยซ้ำ
3. โบนัส
นอกจากเงินเดือน เกมเมอร์ยังจะได้รับเงินโบนัส โดยเฉพาะเมื่อคว้าชัยชนะในการแข่งขัน เมื่อทีมชนะ พวกเขามักจะได้รับการกล่าวถึง ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าให้กับทั้งเกมเมอร์และต้นสังกัดในเชิงธุรกิจได้ดียิ่ง
4. สปอนเซอร์
ปัจจุบัน มีบริษัทและองค์กรมากมาย ที่มองเห็นโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจของ E-sport และพร้อมจะสนับสนุนเกมเมอร์ เพื่อสร้าง Brand Awareness ให้กับสินค้าของพวกเขาในตลาดกลุ่มใหม่ สิ่งที่เกมเมอร์ต้องทำ คือ ใช้สินค้าของสปอนเซอร์ ขณะกำลังแข่งขันในสนามหรือที่สาธารณะเท่านั้นเอง
5. สตรีมมิ่ง
เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งของเหล่าเกมเมอร์ โดยแต่ละคนก็มีวิธีสร้างสรรค์การนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะทดลองเล่นเป็นตัวละครในเกมให้ชม หรือบางคนก็อาจจะถนัดในการทำ Tutorial แต่ไม่ว่าจะสร้างสรรค์งานออกมาในรูปแบบไหน หากมีผู้ติดตามเขามากขึ้น รายได้จากการสตรีมมิ่งก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มชื่อเสียงให้กับเกมเมอร์คนนั้นในวงการอีกทางหนึ่ง